การดื่มน้ำชานั้นช่วยดับกระหาย แม้จะมีรสขม แต่ด้วยกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ก็ทำให้ผู้คนติดอกติดใจ อาจเพราะคาเฟอีน สารเสพติดอ่อน ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย ยิ่งทำให้ผู้คนนิยมชมชอบการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในทุกเชื้อชาติบนโลก
การดื่มชาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การดื่มชาต้มกับน้ำร้อนเท่านั้น โดยไม่ต้องผสมสิ่งอื่น โดยเฉพาะนม เนื่องจากมีสารที่ลดการทำปฏิกิริยาทางเคมีกับคาเทชิน ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง แล้วประโยชน์อื่น ๆ ของชาที่เราอาจไม่ค่อยรู้กันมีอะไรอีกบ้าง มาอ่านกันเลย
1. บำรุงหัวใจให้แข็งแรง
- ชาช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตับ และยังช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- โดยเฉพาะชาเขียวและชาดำ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) และลดระดับความดันโลหิต ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีงานวิจัยที่น่าสนใจโดยศึกษาในคนญี่ปุ่น เป็นเวลา 6 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียวปริมาณ 7 ถ้วยต่อวัน มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยลง 76% เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มน้อยกว่า 1 ถ้วยต่อวัน อีกงานวิจัยเป็นการศึกษาโดยติดตามเป็นเวลา 11 ปี พบว่า ผู้ที่ดื่มชาเขียวมากกว่า 5 แก้วต่อวัน มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม
2. สุขภาพฟันแข็งแรง
- ชาดำและชาเขียวมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ช่วยป้องกันคราบฟัน ลดโอกาสเกิดฟันผุให้น้อยลง ช่วยลดอาการเหงือกอักเสบได้ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก
3. ลดการเกิดโรคสมองเสื่อม
- ผลการศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์เทียนจินของจีน พบว่าการดื่มกาแฟหรือชา หรือการดื่มทั้งสองอย่าง อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และภาวะสมองเสื่อม (dementia)
- ชามีกาเฟอีน และคาเทชิน (catechin) ซึ่งมีคุณสมบัติปกป้องระบบประสาท เช่น มีฤทธิ์ต้านความเครียดที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และฤทธิ์ต้านการอักเสบ การดื่มชาเป็นประจำวันละ 1 แก้ว ถูกอ้างว่าลดอาการสมองเสื่อมได้มากกว่าร้อยละ 50
- งานศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร "The Journal of Nutrition, Health & Aging" เดือนธันวาคมปี 2016 ของทีมนักวิจัยจาก National University of Singapore ที่ศึกษาจากกลุ่มชุมชนผู้สูงอายุชาวจีนอายุ 55 ปี 957 คน
- ผลปรากฎว่าผู้สูงอายุที่ดื่มชาเป็นประจำทุกวัน อัตราความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมลดลงร้อยละ 50 และในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคอัลซัลเมอร์ (มียีน APOE ε4) ยังช่วยลดความเสี่ยงลงถึงร้อยละ 86
4. บรรเทาอาการท้องผูก
- ชาหลากหลายชนิดมีสรรพคุณบำรุงระบบย่อยอาหาร โดยส่วนใหญ่แล้วแนะนำให้ดื่มหลังอาหาร เพราะกระตุ้นการขับถ่าย
- ชาเปปเปอร์มินต์ เปปเปอร์มินต์ มีคุณสมบัติช่วยแก้อาการปวดเกร็ง ปวดท้องบริเวณกระเพาะอาหาร ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ (Antispasmodic) รวมถึงยังมีคุณสมบัติช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (Carminative) ส่งผลให้กล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหารคลายตัวดีขึ้น และยังช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้น ยาธรรมชาติยอดนิยมสำหรับปัญหาระบบทางเดินอาหาร เมนทอลในเปปเปอร์มินต์อาจช่วยผ่อนคลายอาการท้องไส้ปั่นป่วน
- ชาขิง แก้อาการท้องผูกได้ดี ขิงจะช่วยเพิ่มความร้อนในร่างกาย และช่วยเร่งการย่อยอาหารให้ดีขึ้น รวมถึงน้ำร้อนก็ยังช่วยกระตุ้นการย่อยอาหารและบรรเทาอาการท้องผูกได้อีกด้วย ชาขิงร้อนมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ที่ส่งเสริมการทำงานของลำไส้ได้เป็นอย่างดี
- ชาแดนดิไลออน ช่วยผ่อนคลายอาการท้องอืดหรือท้องผูกเป็นครั้งคราว แดนดิไลออนกระตุ้นให้ตับผลิตน้ำดี ช่วยแก้อาการท้องผูกทางอ้อม ขับปัสสาวะ เพิ่มน้ำให้ระบบย่อยอาหาร
- ชาเขียวชาดำ กระตุ้นการขับถ่าย
- ชารากชะเอม ต้านการอักเสบและช่วยย่อยอาหาร
- ชารากมาร์ชเมลโล่ มีคุณสมบัติเป็นยาระบาย
- ชาดอกคาโมมายล์ ช่วยให้ลำไส้สงบ
5. ช่วยรักษากระดูก
- มีงานวิจัยหนึ่งที่ทำการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบริโภคชาเขียว ได้นำเสนอผลลัพธ์ที่ว่า การดื่มชาเขียวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี อาจสัมพันธ์กับการเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน พบว่าการบริโภคชาเขียวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระคาเทชินปริมาณ 500 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 24 สัปดาห์ อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงแก่กระดูกได้ - แม้ชาจะมีประโยชน์มาก แต่ก็มีข้อจำกัด เช่น มีสารคาเฟอีนซึ่งเป็นสารเสพติด แม้จะมีปริมาณน้อยจนไม่เป็นอันตราย แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไปก็สามารถส่งผลเสียได้ จึงควรดื่มชาแต่พอดี และถูกวิธี เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากใบชาอย่างเต็มประสิทธิภาพ