5 วิธีดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน ปรับทุกข์ให้สุขขึ้น

  •  01 ต.ค. 67

 

วัยทำงาน มาพร้อมกับความรับผิดชอบรอบด้าน ทั้งจากเรื่องงาน ชีวิต ไปจนถึงภาระรอบด้าน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกับสุขภาพกายแล้ว หลายๆ ครั้งยังสะสมกลายเป็นปัญหาสุขภาพใจในระยะยาวได้เช่นกัน

แต่จะเริ่มกลับมาดูแลใจอย่างไรให้มีความสุข ทั้งยังสามารถบาลานซ์ชีวิตตัวเองให้สมดุลมากขึ้น มาดู 5 วิธีดูแลสุขภาพจิตวัยทำงานที่นำมาฝากในวันนี้กัน 

สุขภาพจิตวัยทำงาน เรื่องนี้สำคัญแค่ไหน?

ในยุคที่การทำงานกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน สุขภาพจิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มักเผชิญกับความกดดันและความเครียดจากการทำงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2019 พบว่า 15% ของผู้ใหญ่ในวัยทำงานมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพใจในสังคมปัจจุบัน

แน่นอนว่า ด้วยปัญหาสุขภาพใจที่เพิ่มขึ้น หลายองค์กรทั่วโลกเองก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตของพนักงาน และมีการดำเนินการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพจิตเช่นกัน 

เช่น บริษัท Deloitte ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหลังจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเน้นการสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในทีมที่ทำงานแบบยืดหยุ่น 

นอกจากนี้ Co-op ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่มีหลากหลายธุรกิจ ได้สร้างทีมเฉพาะด้านสุขภาพจิตเพื่อดูแลพนักงานอย่างจริงจัง ในขณะที่ Edinburgh Airport เองก็ได้ใช้แนวทางในการจัดการสุขภาพจิตเชิงรุก เช่น การมี Mental Health First Aiders เพื่อลดอัตราการขาดงานจากปัญหาสุขภาพใจ

 

ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานมีอะไรบ้าง?

ในสถานการณ์การทำงานที่เต็มไปด้วยความกดดันและความเครียด ส่งผลให้วัยทำงานหลายๆ คนต้องเผชิญเข้ากับปัญหาสุขภาพจิตมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ไปจนถึงภาวะหมดไฟที่หลายคนรู้จักในชื่อของ Burnout Syndrome

โดยภาวะซึมเศร้าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพใจที่พบมากที่สุดในวัยทำงานทำงาน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากความเครียดสะสม การขาดแรงสนับสนุนและวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ โดยส่วนใหญ่แล้ว หลายคนมักไม่รู้ตัวว่าตนเองเริ่มมีภาวะซึมเศร้าจนเริ่มมีสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกหดหู่ หมดแรงในการทำสิ่งต่างๆ จนไปถึงความรู้สึกแง่ลบที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน 

ในขณะที่ความวิตกกังวลเป็นปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานที่เกิดจากความเครียดในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ความกลัวที่จะทำงานผิดพลาด ปริมาณและภาระงานที่มากเกินไป รวมถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน

นอกจากนี้ ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome เองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อพนักงานถูกคาดหวังให้ทำงานมากเกินไป หรือ ต้องมี Productivity ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะหมดไฟมักมาในรูปแบบของความรู้สึกเหนื่อยล้าและขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา ภาวะหมดไฟอาจลุกลามกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

 

รู้ได้อย่างไรว่าสุขภาพใจเริ่มไม่ไหวแล้ว?

เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ เชื่อว่าหลายคนเองก็ย่อมรู้สึกเหนื่อยล้า มีความเครียด และรู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวอยู่บ้าง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า อาการที่เป็นอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพจิตหรือเปล่า ลองมาเช็กตัวเองเบื้องต้นตาม 4 สัญญาณปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน ดังนี้

1. อารมณ์แปรปรวน

หากรู้สึกเศร้า หงุดหงิด หรือ หดหู่บ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล หรือ ภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดสะสมจากการทำงาน

2. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

เช่น หลีกเลี่ยงการพบปะเพื่อนร่วมงาน หยุดทำกิจกรรมที่เคยชอบ รู้สึกผิดที่พักผ่อนจากการทำงาน หรือ คุณอาจไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรม หรือ ประชุมต่างๆ ขององค์กร เมื่อมีความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้น

3. เริ่มมีปัญหาการนอนหลับ

ความเครียดสะสมอาจทำให้นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือ รู้สึกง่วงแต่นอนไม่หลับ ซึ่งอาจนำไปสู่การเหนื่อยล้าสะสม ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้าด้วยเช่นกัน

4. เริ่มมีปัญหาสุขภาพที่ไม่ทราบสาเหตุ

เช่น มีอาการปวดหัว ปวดท้อง หรือ อาการอื่นๆ ที่ไม่มีสาเหตุ โดยสัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นในร่างกาย รวมถึงความวิตกกังวลที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้

 

5 วิธีดูแลสุขภาพจิตตัวเองฉบับวัยทำงาน ทำตามไม่ยาก! 

ใครหลายคนอาจมองว่า การดูแลสุขภาพจิตด้วยตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเราสามารถเริ่มดูแลสุขภาพใจได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ ในชีวิตก่อน ซึ่งหากใครยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มจากจุดไหน ลองมาดู 5 วิธีดูแลสุขภาพจิตตัวเองที่นำมาฝากกัน!

 

1. เปิดใจยอมรับตัวเอง

สุขภาพจิตที่ดีเริ่มต้นที่การยอมรับตัวเอง โดยคุณควรเข้าถึงสภาพอารมณ์ของตัวเองและยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรฝืนมองโลกในแง่บวกจนเกินไป เพราะอาจนำไปสู่วันที่ใจรับไม่ไหวก็เป็นได้ 

เช่น หากคุณรู้สึกเครียดจากงาน ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมฉันถึงรู้สึกแบบนี้?” แทนที่จะบอกตัวเองว่า “ให้มองในแง่บวกเข้าไว้” เพราะการตั้งคำถามจะช่วยให้ตัวเราเข้าใจต้นเหตุของอารมณ์ และสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

2. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายมีพลังงานในการทำงานเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพจิตด้วย โดยเฉพาะการดูแลระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของจิตใจผ่านสิ่งที่เรียกว่า Microbiome หรือจุลินทรีย์ในลำไส้

Microbiome คือ กลุ่มของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในลำไส้ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้มีความหลากหลายและทำหน้าที่สำคัญในการช่วยย่อยอาหาร สร้างวิตามิน และรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

นอกจากนี้ จุลินทรีย์ในลำไส้ยังสามารถผลิตสารเคมีที่สำคัญ เช่น เซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งความไม่สมดุลของสารนี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือ ความวิตกกังวล

ที่สำคัญ ยังมีการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีเส้นทางการสื่อสารระหว่างลำไส้และสมอง ซึ่งเรียกว่า gut-brain axis โดยพบว่า การดูแลสุขภาพทางเดินอาหารสามารถส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงใน microbiome สามารถส่งผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมได้นั่นเอง

 

3. หาเวลาพักผ่อนอยู่กับตัวเอง

การทำสมาธิ หรือ ฝึกลมหายใจ เป็นวิธีจัดการความเครียดและลดความวิตกกังวลที่หลายคนมักมองข้าม แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้เวลาสั้นๆ ในการฝึกลมหายใจลึกๆ สามารถช่วยให้รู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้นั่งสมาธิแบบเต็มรูปแบบก็ตาม 

ลองใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีต่อวันเพื่อฝึกลมหายใจ โดยนั่งในท่าที่สบายแล้วหายใจเข้าลึกๆ ผ่านทางจมูกแล้วปล่อยออกช้าๆ ผ่านทางปาก เท่านี้ก็ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้แล้ว

 

4. รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง

แปลกแต่จริง! แต่รู้หรือไม่ว่าความเหงาในวัยทำงานสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ ดังนั้น ควรรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่จะพูดคุยและแชร์ความรู้สึกจะช่วยลดความเครียดได้ 

ที่สำคัญ อย่าลืมหาวิธีรับมือกับคน Toxic ที่อาจสร้างแรงกดดันให้กับชีวิต เช่น การตั้งขอบเขตในการพูดคุย หรือ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้รู้สึกไม่ดี เป็นต้น

 

5. อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ

หากลองวิธีจัดการความเครียดแล้วภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือ ความรู้สึกแง่ลบยังไม่หายไป การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างการปรึกษานักจิตวิทยาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกดีๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลางแล้ว ตัวคุณยังอาจได้ปลดล็อกความรู้สึกที่ติดค้างอยู่ในใจที่กำลังเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตขณะนี้ก็เป็นได้

 

พิชญานิน คลินิก มาพร้อมกับจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมให้บริการทางการแพทย์และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตทุกช่วงวัยแบบครบวงจร ให้คุณได้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับจิตใจ โดยเฉพาะวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อความสุขและการใช้ชีวิต

รู้สึกไม่สบายใจเมื่อไหร่อย่าเก็บไว้คนเดียว ให้ผู้เชี่ยวชาญจากพิชญานินช่วยดูแลตั้งแต่วันนี้ที่ ชั้น 3 ศูนย์การค้า Paradise Park พร้อมนำใบเสร็จมาสะสมคะแนนผ่าน MBK Plus เพื่อแลกรับส่วนลด คูปอง รวมถึงสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่จะช่วยให้คุณยิ้มและมีความสุขได้มากขึ้น อย่าลืมสมัคร MBK Plus ก่อนเข้ารับบริการที่ Line OA: @mbkplus ตรวจสอบเงื่อนไขการสะสมคะแนนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.paradisepark.co.th/mbkplus.php 

 

อ้างอิง:

  • https://www.istrong.co/single-post/how-to-make-happiness-life 

  • https://bangkokpattayahospital.com/th/health-articles-th/mental-health-th/mental-heath-workspace/ 

  • https://chulabhornchannel.cra.ac.th/health-articles/36887/ 

  • https://www.cimbthai.com/th/personal/blog/lifestyle-tips/happy-everyday.html